IO หรือ Information Operation แปลได้ตรงตัวว่าเป็นปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเว็บไซต์ ACIS ได้อธิบายคำว่า “อินฟอร์เมชั่น โอเปอร์เรชั่น” หมายถึง “การปฏิบัติการสารสนเทศ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Information Operations” เป็นการปฏิบัติการด้าน “ข้อมูลข่าวสาร” เพื่อสร้างผลกระทบต่อการคิด ตัดสินใจของฝายตรงข้าม หรือ สร้างอิทธิพลต่อการคิด การตกลงใจ จากข้อมูลข่าวสารและระบบสารสนเทศของฝ่ายตรงข้ามซึ่งโดยหลักการแล้ว “IO” มีความเกี่ยวพันกับหลักการการปฏิบัติการด้านการข่าวทางทหาร ซึ่งเป็นแนวคิดจากการบูรณาการสงครามการควบคุมบังคับบัญชา (Command and Control Warfare) และ สงครามสารสนเทศ (Information Warfare) ของกองทัพสหรัฐฯ เป็นหลักการที่ออกเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการครั้งแรกโดยกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาในปี 2003 อนุมัติหลักการโดย นายโดนัล รัมส์เฟล (Donald Rumsfeld) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐในขณะนั้น
ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร คือ การสื่อสารเชิงกลยุทธ์
การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Communication ก็คือแนวคิด กระบวนการ หรือการบริหารการสื่อสาร เพื่อให้องค์กรสามารถบรรลุถึงเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ได้อย่างราบรื่น ผ่านการใช้ข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้อง อาจจะทั้งภายในองค์กร หรือภายนอกองค์กร ในทางธุรกิจ หมายรวมถึงการสื่อสารการตลาด และการสื่อสารองค์กร
การบริหารจัดการข่าวสารเชิงกลยุทธ์ จึงเป็นการวางแผนอย่างเป็นระบบ เข้าใจในเรื่องการไหลของข้อมูลข่าวสาร การดูแลภาพลักษณ์ โดยการเลือกใช้ถ้อยคำหรือภาษาที่เหมาะสม ผ่านช่องทางที่เหมาะสม ไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างถูกที่ ถูกเวลา และน่าฟัง เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์หรือเป้าหมายในระยะยาว
“3 ปัจจัยสำคัญของการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ คือ
- ข้อความที่จะสื่อสาร
- ช่องทาง
- ผู้รับสาร”
ไม่ว่าจะเรียกสิ่งนี้ว่าปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ก็ล้วนแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทุก ๆ กิจกรรมขององค์กร เพราะการสื่อสารอย่างมีกลยุทธ์ ไม่เพียงแต่จะทำให้องค์กรสามารถเดินไปสู่เป้าหมายได้แบบประหยัดเวลา ประหยัดเงิน ประหยัดทรัพยากร และหลีกหนีจากอุปสรรคขวากหนามได้แล้ว ยังทำให้การดำเนินเงินต่าง ๆ ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
“การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ ไม่ใช่วิธีที่จะใช้ข้อมูลข่าวสารเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้าม แต่เพื่อสนับสนุนให้ภารกิจขององค์กรลุล่วงไปด้วยดี”
ความเหมือนที่แตกต่าง
แน่นอนว่า ข้อมูลข่าวสาร มีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อผู้พัฒนาโครงการและผู้ได้รับผลกระทบ ดังนั้น หลักการสื่อสารเพื่อพัฒนาโครงการตามแนวคิด 5-step way of hope ของ อ.ธนาคม พจนาพิทักษ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เสนอไว้ว่า บันไดขั้นแรกของการสื่อสารเพื่อความเข้าใจกัน คือ Dialog หรือ สุนทรียสนทนา โดยหัวใจสำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างโปร่งใส นำเสนอข้อเท็จจริงทั้งสองด้าน เพื่อนำไปสู่การสร้างข้อตกลงแบบไม่มีผู้แพ้
ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารเหมือนกัน
IO อาจจะใช้ข่าวสาร เพื่อเขย่าการรับรู้ ทำลายขวัญและกำลังใจของฝ่ายตรงข้าม ทำลายความน่าเชื่อถือ
แต่การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ จะมุ่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน นำไปสู่ความสำเร็จ โดยไม่ต้องมีใครเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
อย่าตื่นเต้นกับ IO
เพราะ IO เป็นเรื่องทางการทหาร ไม่ใช่เรื่องของการประชาสัมพันธ์
ในขณะที่สังคมกำลังหยิบ IO มาพูดถึง (ในทางที่ไม่ดี) องค์กรควรย้อนมามองดูว่าปัจจุบันงานด้านประชาสัมพันธ์ที่ทำอยู่นั้น มีกลยุทธ์ที่ดีแล้วหรือยัง
กลยุทธ์ที่ดี หมายความว่า ถูกที่ ถูกทาง ถูกจังหวัดเวลา และมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเหมาะสมว่า ภายในองค์กรควรจะรู้อะไร ควรจะแสดงความร่วมมืออย่างไรบ้าง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อโครการ ควรจะรู้อะไร ข้อมูลประเภทไหนที่จะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ข้อมูลประเภทไหนที่จะเป็นประโยชน์ ส่งผลกระทบต่อสิทธิของพวกเขา สื่อมวลชนควรช่วยนำเสนอข่าวสารแบบใด วิธีการแสวงหาความร่วมมือจากสื่อมวลชนจะสามารถกระทำได้อย่างไรบ้าง ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้สื่อส่งข้อมูลข่าวสารที่ผิดเพี้ยน หรือส่งผลลบต่อโครงการและองค์กร ผู้เกี่ยวข้องซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ ควรรับรู้ข่าวสารอย่างไร เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือ หรือทำให้โครงการต่าง ๆ บรรลุถึงเป้าหมายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
สิ่งเหล่านี้ ย่อมต้องอาศัยการวางกลยุทธ์ที่ดี ซึ่งต้องคิด ทำ และทบทวนตลอดเวลา
วาทิต ประสมทรัพย์