พูดกันมาหลายยุค หลายสมัย ว่าพนักงานในองค์กรทุกคน ต้องทำหน้าที่เป็นพีอาร์ หรือประชาสัมพันธ์ให้กับองค์กรด้วย แต่จะว่าไปแล้ว การทำให้ได้อย่างที่หวังนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะทุกคน ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็น “พีอาร์” และไม่ใช่ทุกคน ที่จะทำงานนี้ได้ดี
แต่เมื่อมาถึงยุคนี้ ยุคที่สื่อมวลชนถูกลดความสำคัญ ในขณะที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลับกลายเป็นผู้สร้างเนื้อหา และเผยแพร่ผ่านช่องทางของตัวเอง ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในส่วนใดขององค์กร ขอเพียงรู้ทักษะต่างๆที่จำเป็นในการเข้าใจและปฏิบัติด้านการสื่อสารขั้นพื้นฐาน 4 ประการ อันประกอบไปด้วย การเข้าใจ PR ในโลกยุคใหม่ 4.0 ,การเขียนให้เป็น ,ถ่ายภาพให้เป็น และการใช้ social media ก็สามารถสร้างการสื่อสารองค์กรที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไม่เกินความสามารถ
1. เข้าใจพีอาร์ (PR) ในโลกยุคใหม่ 4.0
ก่อนที่เข้าใจทักษะด้าน PR เราต้องเข้าใจสภาพแวดล้อม สถานการณ์ และช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ก่อน เพื่อที่จะเลือกใช้เครื่องมือดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลมากที่สุด เพราะการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเสมอ เครื่องโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นที่นิยมมาก การสื่อสารต่าง ๆ จึงมุ่งเน้นไปทางช่องทางดังกล่าว แต่ในปัจจุบัน การเข้ามาของ Internet, Smartphone, Social Media ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อวิถีชีวิตคนทั้งโลก แม้ว่าเครื่องโทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่ได้ถูกแทนที่ แต่ก็ถูกลดความสำคัญลงไปมาก และอาจไม่ใช่คำตอบของการสื่อสารเสมอไป ดังนั้น ก่อนที่จะสร้างการสื่อสาร เราต้องเข้าใจโลกเสียก่อนว่ากำลังจะหมุนไปทางไหน
2. เขียนให้เป็น
เมื่อเราเข้าใจโลกแล้ว ก็เริ่มกลับมาโฟกัสต่อที่สิ่งที่เราอยากจะสื่อสาร สิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารนั้นจะสำคัญหรือน่าสนใจมากแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่าเราสามารถถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้ไปสู่ผู้รับสารให้เข้าใจได้หรือไม่ พื้นฐานของคนทุกคนแตกต่างกัน มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน มีกระบวนการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ดังนั้นข้อมูลชุดเดียวกัน เมื่อส่งไปถึงคนสองคน อาจเข้าใจไม่ตรงกันก็เป็นได้ เราพบเหตุการแบบนี้ได้ในชีวิตประจำวันและเป็นเรื่องตลกขำขัน แต่หากเป็นในแง่ของการสื่อสารองค์กรแล้วถือเป็นความล้มเหลวอย่างรุนแรง ดังนั้นการเขียนในเชิง PR นั้นจะต้องกระชับ ชัดเจน ไม่ก่อให้เกิดความสับสน และใช้ภาษามนุษย์ในการสื่อสาร (อย่าใช้ศัพท์เฉพาะมากจนเกินไป)
3. สื่อสารด้วยภาพให้เป็น
สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวช่วยให้ผู้รับสารเข้าใจสารได้เร็วที่สุดคือรูปภาพ หรือภาพเคลื่อนไหว การอ่านตัวอักษรอย่างเดียวทำให้ผู้อ่านต้องจินตนาการภาพในหัวขึ้นมาเองจากประสบการณ์ส่วนตัว แต่หากสิ่งที่พูดถึงเป็นเรื่องใหม่จะก่อให้เกิดภาพเบลอ ๆ ไม่ชัดเจน หรือเกิดความสับสน อ่านไปงงไปได้ รูปภาพและภาพเคลื่อนไหวจึงเป็นตัวช่วยที่ดีมากที่จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจสารได้อย่างรวดเร็ว ตัดความเป็นไปได้ที่จะเข้าใจผิด เพิ่มความน่าสนใจของสาร และยังเป็นหลักฐานเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสารได้อีกด้วย ดังนั้นทักษะการถ่ายภาพ และใช้ภาพอย่างไรให้ดี น่าสนใจ สามารถเล่าเรื่องราวได้ตามที่ผู้ส่งสารต้องการนั้นจึงเป็นเรื่องที่นัก PR ควรใส่ใจ อีกทั้งยุคดิจิทัลนี้ Smartphone ส่วนใหญ่สามารถถ่ายรูปที่มีความละเอียดสูง สามารถนำไปใช้ในการสื่อสารได้ ใครก็ทำได้ และทำได้ทันที เพียงถ่ายให้เป็นและใช้ภาพสื่อสารให้รู้เรื่อง
4. ใช้ Social Media
ปี 2019 ก็ยังคงเป็นปีที่มนุษย์โลกส่วนใหญ่ฝากชีวิตประจำวันของพวกเขาไว้ที่พื้นที่เสมือนบนโลกไซเบอร์ที่ทุกคนสามารถพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน แบ่งปัน หรือแม้กระทั่ง บ่น อวด สิ่งต่าง ๆ ได้โดยเพื่อน ๆ หรือสังคมของเขาสามารถรับรู้สารดังกล่าวได้ทันที เพียงแค่กดเปิดจอ Smartphone ขึ้นมาดูการแจ้งเตือน Social Media จึงเปรียบเสมือนกับสภากาแฟของแต่ละคนที่จะรายล้อมไปด้วยเพื่อนที่เขารู้จักบ้าง เพื่อนของเพื่อนบ้าง หรือบางทีก็จะมีคนแปลกหน้าเดินผ่านมาบ้าง เจ้าตัวพูดอะไรออกมาคนรอบข้างก็จะได้ยินเกือบจะทันที บางคนก็ฟัง บางคนก็เมิน หรือใครไปเจออะไรมาก็นำมาแชร์ให้เห็นด้วยกัน Social Media จึงได้รับความนิยมอย่างสูง และมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกใช้มากมาย อาทิ Facebook Instragram Snapchat Twitter และอีกมากมายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการใช้ประโยชน์จากสภากาแฟที่มีการชุมนุมกันอย่างไม่เป็นทางการนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อการสื่อสารขององค์กรจึงโอกาสที่ดีไม่น้อย และไม่ควรมองข้ามด้วยประการทั้งปวง
จะเห็นได้ว่าการสื่อสารองค์กรนั้นคือการจัดระเบียบการสื่อสารให้ถูกต้อง เหมาะสม น่าสนใจ และสามารถส่งไปยังผู้รับสารให้มีความบิดเบี้ยวน้อยที่สุด การสื่อสารไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่รู้และเข้าใจหลักวิธีคิดในมุมมองของสื่อสาร คุณก็จะพบจิตวิญญาณของนักประชาสัมพันธ์ที่หลับไหลอยู่ในตัวของทุกคน
สงวนลิขสิทธิ์ – พงศธร กาญจนะวรนันท์ ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์