หากคุณเป็นผู้บริหารองค์กรไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ และกำลังประสบปัญหาด้านการสื่อสารภาพลักษณ์หรือปัญหาด้านการสื่อสารธุรกิจ สินค้าและบริการอยู่ อย่าเพิ่งด่วนกังวลใจไป เพราะวันนี้คุณอาจจะได้เห็นประกายบางอย่างและช่องทางบางอันจากคุณวาทิต ประสมทรัพย์ MDหนุ่มแห่งบริษัท CRF
CRF คือองค์กรน้องใหม่แห่งวงการธุรกิจฝึกอบรม การจัดการ และที่ปรึกษาด้านการสื่อสารยุคใหม่ ซึ่งกำลังมาแรงแบบเงียบๆเพราะได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างดียิ่งทั้งที่เพิ่งเปิดตัวได้เพียงปีเศษเท่านั้น
CRF คือใคร CRF คิดอะไร CRF มีจุดแข็งจุดแตกต่างกับคนอื่นอย่างไร และที่สำคัญ CRF จะช่วยแก้ปัญหาให้องค์กรของคุณได้อย่างไร บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ
CRF ย่อมาจากอะไร
“ต้องบอกก่อนว่า การถือกำเนิดของ CRF มันฉุกละหุกมาก ก่อนหน้านี้ผมรับงานในลักษณะส่วนตัวมาโดยตลอด แต่ต่อมามีสัญญาจ้างกับภาครัฐและภาคเอกชนเกิดขึ้น คือมีบางหน่วยงานอยากให้เราไปช่วยจัดฝึกอบรมให้ และบางหน่วยงานก็อยากให้ผมไปช่วยแก้ปัญหา ก็เลยต้องเร่งจดทะเบียนเป็นบริษัท ตอนตั้งชื่อบริษัทผมไม่ได้คิดอะไรเลย ผมคิดแค่ว่า ตัว Mission หรือว่าตัวขอบเขตภารกิจงานที่จะทำ ณ ปี 61ตอนนั้นคืออะไร ชิ่อองค์กรมันก็ควรจะตอบโจทย์นั้น
“ตอนนั้นเราตั้งใจจะทำเพียง3 เรื่องหลักๆ คือ 1. Communication 2. Research 3. Franchise marketing ผมเลยนำตัวย่อของ 3 ตัวนี้คือ CRF มาเป็นชื่อบริษัทซะเลย”
1. Communications หรือ Communication management คือ การบริหารการจัดการการสื่อสารในเชิงกว้างและลึก ไม่ใช่แค่การประชาสัมพันธ์แบบปกติ ตรงนี้ผมมีพื้นฐานมาจากงานประจำที่ทำสั่งสมมาทั้งชีวิต
2.Research คือกระบวนการและองค์ความรู้ในการสำรวจทางด้านการศึกษาวิจัย ตรงนี้มีที่มาจากการศึกษาระดับปริญญาโทและบทบาทอาจารย์พิเศษให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ
3. Franchising คือการพัฒนาจากธุรกิจที่มีความพร้อมและสามารถพัฒนาให้เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ได้ อยากทำส่วนนี้เพราะผมผ่านการอบรมเรื่องการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์จากกระทรวงพาณิชย์ และก็ได้รับเชิญไปเป็นผู้ตรวจประเมินเฟรนไชส์ ให้กับทีมที่ปรึกษาของกระทรวงพาณิชย์
จากประสบการณ์ทั้งหมดจึงคิดว่าเรามีความพร้อมระดับหนึ่งแล้วที่เราจะสามารถตั้งองค์กรขึ้นมาช่วยพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้คนอื่นๆ ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือ SMEsได้
ปัจจุบันคุณวาทิตยังทำงานประจำด้านประชาสัมพันธ์อยู่ใช่ไหม แล้วมาเปิด CRF ไปด้วย จะมีการแยกบทบาทการทำงานอย่างไร
“ยังทำงานให้กับ บ. 124 คอมมิวนิเคชั่นสฯ ครับ และที่มาทำ CRF เราจะไม่ได้รับงาน PR เลย งานหลัก ๆ ที่ CRF ทำก็คือ การประชาสัมพันธ์เชิงรุกแบบหลอมรวมในยุคดิจิทัล ผมไม่อยากทำอะไรที่มันทับซ้อนกับงานของบริษัทเดิมที่เราทำอยู่ ต้องการเสนอแนวคิดใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ที่เรามองว่า มันเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสื่อสารในยุคที่โลกถูก “Discrupt” ในการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ ถ้ามันไปยึดติดกับองค์กรหนึ่งก็ทำไม่ได้ มันต้องเกิดขึ้นกับ Professional ที่เราทำงานแล้วเราเห็นอะไรก็ถอดมันออกมาให้เป็นโมเดล เป็นตัววิธีการที่เราจะเดินไปพร้อมกับลูกค้าได้”
“CRF อาจจะเน้นการฝึกอบรมด้านการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก แต่ไม่อยาก position บริษัทตัวเองเป็น Training แบบเต็มตัวร้อยเปอร์เซนต์ เรายังอยากเน้นว่า เราเป็นมืออาชีพทางด้านการสื่อสารมากกว่า สิ่งที่เราเอามาถ่ายทอดคือการแบ่งปันต่อยอดประสบการณ์ที่เราทำจริงมาตลอดชีวิต
“เราอยากเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ ประกอบการกิจการแบบ “professional” มีตัวตนที่ชัดเจนทั้งในโลกออนไลน์และโลกออฟไลน์ ตอนนี้เรายังไม่ได้มองถึงอนาคตว่าจะเติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่อะไร แค่อยากเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ สามารถรวบรวมคนที่เป็นมืออาชีพมาทำงานด้วยกันโดยที่มีองค์กร CRF รองรับ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ แบ่งปันประสบการณ์ที่ตกผลึก สามารถแก้ไขปัญหาและต่อยอดธุรกิจให้ลูกค้าได้ เราก็พึงพอใจแล้ว ณ ตอนนี้
จากจุดเริ่มต้น CRF ก้าวเดินต่อมาอย่างไร
“ตอนแรกสุดเรารับงานเรื่องการสื่อสารให้กับบุคคล ซึ่งเขามีแผนในการลงรับเลือกตั้งทางการเมือง ก็ทำโปรโมทอะไรไป มันก็ไปได้สวยนะ ด้วยการนำแนวคิดทางด้านการสื่อสารของโลกยุคปัจจุบันมาปรับใช้การรณรงค์สื่อสารทางการเมือง
“ ต่อมาเราก็ไปรับงานภาครัฐด้วยทำกิจกรรมในการจัดสัมมนาให้กับหน่วยงานภาครัฐแห่งหนึ่งที่มีคนมาร่วม 200 กว่าคน ครั้งแรกที่จัดเราก็ดูวิธีการสื่อสารมันเป็นอย่างไร ทำไมเขาถึงได้รวบรวมคนมาแบบนี้ได้ เรารับหน้าที่ในการหาวิทยากร ตั้งประเด็น การทำวีดีโอ ในการวางรูปแบบลักษณะของกิจกรรมทั้งหมด พอจบงานเรียบร้อยเราฟันธงเลย เราทำได้ เราบอกกับตัวเองเลยว่าเราทำได้ เรารู้วิธีการแล้ว ทุกอย่างแล้วเราเคย “execute” มาหมด เราทำมาหมดเลยตลอด แต่มันเหลือตรงต้นทางนิดเดียวที่เรายังไม่เคยรู้ว่าการรวบรวมคนมาสัมมนาอบรมแบบนี้เขาทำกันยังไง เมื่อก่อนเราเป็นบริษัทเอเจนซี่เรารับงานมา ลูกค้ามีลิสท์ มีรายการ มีอะไรมาให้หมด เราไม่ใช่เป็นคน recruit คนเข้ามา พอเราเริ่มมาจับงานสัมมนาชิ้นนี้ขึ้นมามันทำให้เรารู้ว่าภาครัฐก็มีวิธีการ recruit คนเข้ามายังไง
“พอเราจบงานชิ้นแรกที่เรารับจ้างมากับภาครัฐกลายเป็นว่าเราได้เห็นวิธีการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในการจัดอบรมสัมมนาและฝึกอบรมสำหรับภาครัฐมันจะมีกลไกอย่างไรบ้าง ในเรื่องของการ organize เป็นเรื่องเบสิคมากที่เราทำมาทั้งชีวิตอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เพียงแค่เราก็จัดอบรมให้โดยองค์ความรู้คนอื่นเราก็จัดมาแล้ว เรามีวิธีการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผมคิดว่ามันคงถึงเวลาที่เราจะใช้ความรู้แล้ววิธีการตรงนี้มาจัดในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ที่เรามีเพื่อให้องค์ความรู้ที่เรามีที่ได้รับการสะสมมานี้ มันกลับไปพัฒนางานของภาครัฐให้มันตอบโจทย์กับบริบทของการสื่อสารในยุคปัจจุบัน”
ถึงแม้บริษัท CRF จะทำงานได้ทุกมิติ แต่ทำไมดูเหมือนว่า จะมีความถนัดด้านลูกค้าที่มาจากหน่วยงานภาครัฐเป็นพิเศษ ?
“โดยส่วนตัวผมค่อนข้างถนัดและเข้าใจภาครัฐครับ ตอนเรียนจบใหม่ ๆ ก็เข้าทำงานที่องค์การโทรศัพท์ตั้ง 9 ปี ต่อมาเมื่อมาทำงานประจำที่บริษัท 124 ผมก็ได้รับผิดชอบดูแลลูกค้าภาครัฐมาโดยตลอด 14 ปีจนถึงตอนนี้ คิดว่าตัวเองเข้าใจและเชี่ยวชาญในงานสื่อสารภาครัฐอย่างดีครับ”
หน่วยงานภาครัฐเขามีบริบทหรือสถานการณ์อะไรหรือ ทำไมถึงจำเป็นจะต้องมีความต้องการให้มืออาชีพอย่าง CRF เข้ามาช่วย มีปัญหาตรงไหนที่เขาไม่สามารถทำได้ 100% ด้วยตัวเขาเอง
“ภาครัฐมีกรอบเยอะครับ มีกรอบที่หลาย ๆ อย่างที่ทำให้คนที่ทำงานไม่กล้าที่จะทะลุขีดจำกัด ไม่กล้าที่จะทะลุกรอบตัวเองออกมา หรือไม่สามารถที่จะใช้ศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เขามีกรอบทางด้านกฏระเบียบวิธีปฎิบัติ กรอบทางด้านวัฒนธรรมเจ้านายลูกน้อง มีกรอบทางด้านความเป็นภาครัฐที่มีอะไรหลาย ๆ อย่างค้ำคออยู่ ทำให้ไม่สามารถพูด ไม่สามารถจะสื่อสารถึงสิ่งที่ตัวเองอยากจะพูดได้อย่างเต็มที่ จะทำอะไรก็ต้องยึดหลักความเป็นองค์กรแบบรัฐเอาไว้
สิ่งที่CRF จะสามารถช่วยเหลือแก้ปัญหาให้ลูกค้าภาครัฐ คืออะไร
“ผมมองเห็นว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีมันเปลี่ยนไปมาก องค์กรของภาครัฐเองนี่มีช่องทางในการสื่อสารเพิ่มขึ้นและมันก็มีวิธีการในการเอา Message ของภาครัฐออกไปสู้ประชาชนได้หลายวิธีเยอะมากขึ้น แต่เพราะติดกรอบอย่างที่ว่ามาแล้วทำให้การทำงานของเขาชะงักงัน”
“อีกอย่างก็คือ หน่วยงานรัฐเขาปรับตัวไม่ค่อยทัน การบริหารจัดการหลายอย่างยังล้าหลัง เช่นการจัดแบ่งโครงสร้างการทำงาน หน่วยงานประชาสัมพันธ์จะแยกอยู่เฉพาะในฝ่ายประชาสัมพันธ์ ฝ่ายไอทีก็แยกดูแลเว็บไซต์ฐานข้อมูล ประชาสัมพันธ์ก็ทำการเขียนข่าวส่งข่าวไป แต่ในโลกปัจจุบันมันโลกยุค “Digital PR” หรือการประชาสัมพันธ์เชิงรุกแบบหลอมรวมในยุคดิจิทัล Digital PR มันก็คือ โลกที่การสื่อสารมันอยู่ร่วมกันหมดโดยมีประชาสัมพันธ์กับ SEO จะมารวมกัน เพราะงั้นมันไม่มีเส้นแบ่งแล้วระหว่าง IT กับ PR”
ที่คุณวาทิตบอกว่า ในภาครัฐการแบ่งส่วนของหน่วยงานเหล่านี้มันมีเส้นแบ่งที่แข็งตัวเกินไป เช่นระหว่างฝ่ายไอที ฝ่ายPR หรือกระทั่งฝ่ายบริหาร ส่วนในภาคเอกชนปัญหานี้แม้จะน้อยกว่า แต่ก็มีปัญหาการสื่อสารในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงเร็วนี้เช่นกัน แสดงว่า ช่องว่างตรงนี้เป็นสิ่งที่ “CRF” จะเข้าไปช่วยเหลือ?
“ใช่เลยครับ เราเข้าไปช่วยเหลือทำงานเพื่อปิดช่องว่างนี้ เพราะในยุคปัจจุบันที่ทุกคนครอบครองสื่อ ครอบครองช่องทางที่เป็นของตัวเองอยู่ด้วย รวมถึงช่องทางที่ทะลุผ่านคนอื่นอย่างเช่นโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มันจะมีวิธีการบริหารจัดการข่าวสารที่ทะลุผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้อย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด และตอบสนองกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป”
“เพราะเราจะคิดแบบเดิมไม่ได้แล้ว เช่น เราส่งข่าวทางสื่อมวลชนไม่ได้แปลว่าข่าวจากสื่อมวลชนจะไปถึงผู้รับข่าวสารแล้วนะ สื่อมวลชนก็ต้องไปผ่านทางท่อทางโซเชียลมีเดียเหมือนกัน หนังสือพิมพ์ไม่มีคนอ่านแล้ว แต่ข่าวสดออนไลน์ เมเนเจอร์ออนไลน์ สำนักข่าวออนไลน์ต่าง ๆ ยังเข้าถึงคนได้อยู่ในรูปแบบเว็บ ซึ่งถ้ามันไม่มีท่อไปถึงโซเชียลมีเดียมันก็เข้าไม่ถึงนะครับ”
“ถ้าคุณใช้บริการพวกสื่อหลัก คุณก็จะได้แค่พื้นที่ข่าวอย่างเดียว และถ้าอยากได้มากกว่าใช้พื้นที่ สื่อหลักต้องไปเสียเงินอีกทอดให้กับท่อต่าง ๆ พวกนั้นอีกทีเหมือนกัน แล้วมันต่างอะไรกับเราอ่ะ ให้เราช่วยดีไซน์ซิ เพราะเราจะสร้างสรรค์และหลอมรวมให้ตั้งแต่แรกอย่างเป็นระบบ มีเอกภาพ มีประสิทธิผลมากกว่า แต่ค่าใช้จ่ายถูกกว่า (หัวเราะ) เราทำได้เพราะเรามีวิธีคิด เรามีช่องทาง มีแชนแนลในการสื่อสารต่าง ๆ และ เราก็เป็นเจ้าของคอนเทนต์เหมือนกัน เรามีคอนเทนต์ในส่วนของเรามากมายหลายเรื่องด้วย ด้วยการผสมผสานขององค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ เราสามารถช่วยให้ลูกค้าทะลุทะลวงเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้ชัดเจนกว่าในอดีต”
สิ่งหนึ่งที่ “CRF” ถนัดมากก็คือการฝึกอบรมให้กับองค์กรต่าง ๆ ไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน ถามว่า การที่องค์กรทำการฝึกอบรมเอง กับให้ CRF เข้าไปร่วมจัดกระบวนการฝึกอบรมให้ มันแตกต่างกันอย่างไร
“ต่างกันมากครับ เพราะว่าเวลาหน่วยงานต่าง ๆ จัดฝึกอบรมเองเนี่ยเขาจะมองภาพของกิจกรรมของการทำงานพวกนี้แบบแข็งตัวแยกเป็นหัวข้อ ๆ เหมือนรายวิชา เช่น อันนี้เป็นรายวิชาประชาสัมพันธ์นะ เป็นหัวข้อเรื่องประชาสัมพันธ์องค์กรที่ผู้บริหารทุกคนต้องมาเรียนรู้หลักสูตรเรื่องการประชาสัมพันธ์ ซึ่งเขาก็จะจัดวิทยากรที่เป็นผู้เชียวชาญทางด้านนั้นเข้ามาสอนในหัวข้อนั้นในคณะ มันก็จะบรรยาย ๆ สอน ๆ นึกภาพออกใช่ไหม แต่ของเราจะมีวิธีการออกแบบฝึกอบรม การสร้างบรรยากาศการฝึกอบรม การสร้างหลักสูตรที่แตกต่างหลากหลาย เชื่อมต่อกับหัวข้ออื่น ๆ หรือประสบการณ์ตรง หรือการวิเคราะห์จากกรณีศึกษาต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อบรมมากที่สุด
“ที่ CRF ทำ เราไม่ได้มองแค่หัวข้ออย่างเดียว เรามองถึงวิธีการและอื่น ๆ อีกเยอะ ต่อยอดจากความรู้ในหัวข้อไปอีก มันคือความเข้าใจ จากความเข้าใจไปสู่วิธีการและการปฎิบัติ ยันไปถึงการประเมินผล เรามองในองค์รวมของการสื่อสารทั้งหมดว่าทำอย่างไรถึงจะเอาแมสเสจจากองค์กรไปถึงผู้รับสารอย่างมีประสิทธิภาพ”
“อย่างเรื่องการประชาสัมพันธ์ในยุคดิจิทัล เราไม่ได้มองแค่ว่า ขอให้รู้เรื่องการประชาสัมพันธ์ผ่านทางโซเชียลมีเดียว่ามีอะไรบ้าง แค่นั้น? มันไม่ใช่ รู้แค่นั้นมันไม่พอ แต่มันยังมีหลายมุมที่อยู่ในเรื่องนี้ เช่น การวิเคราะห์สารดิจิทัลที่มีความซับซ้อน การนำไปปรับใช้ หรือการถอดบทเรียนจากเคสที่สำเร็จและล้มเหลว เป็นต้น เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้มันถูกสะท้อนมาในเรื่องของการออกแบบหลักสูตรที่คำนึงถึงบริบทของผู้เรียน ความเป็นไปได้และสัมฤทธิผลในการเรียนรู้ เราจึงได้มีการแบ่งแยกย่อยหลักสูตรออกเป็นหลาย ๆ ระดับตั้งแต่ของหลักสูตรระดับผู้บริหารไปจนถึงผู้ปฎิบัติ”
การที่ไป Classify หลักสูตรย่อย ๆ แบบนี้มันมีประโยชน์อะไร
“คุณอยากจะเรียนรู้แบบมัดรวมหรือ? เราไม่เชื่อในทฤษฎี ข้าวหลามหนองมน นะว่าทุกร้านจะต้องขายของเหมือนกันหมดได้ เพราะงั้นมันจึงต้อง Classify ให้เหมาะกับการปฎิบัติงานของแต่ละส่วน”
“เช่น ผมไม่สามารถเอาเรื่องการทำงานของคนเขียนข่าวไปพูดปนรวมกับผู้บริหารหน่วยงานระดับซี 8 ซี 9 ได้ เพราะเขาไม่ได้มานั่งเขียนข่าวเอง หรือถ้าผู้บริหารงานหน่วยงานระดับซี 8 ซี 9 บอกว่าอยากจะรู้เรื่อง infographic ผมก็อาจสามารถอบรมวิธีการใช้งาน ความเข้าใจ และการสื่อสาร infographicให้ได้ แต่จะไม่สอนผู้บริหารเรื่องการทำ infographicนะครับ มันต่างกัน”
จากแนวคิดตั้งต้นแบบนี้ ความเชื่อแบบนี้ ประสบการณ์ส่วนตัวแบบนี้ พอเริ่มทำ CRF ไป 1-2 ปี มันมีกระแสตอบรับอะไรไหมว่า สิ่งที่เราคิดเราทำนั้นมันถูกต้องว่ามาถูกทางแล้ว
“กระแสตอบรับเริ่มชัดขึ้นตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทไม่ถึงหนึ่งปี วัดจากการจัดคอร์สอบรมรุ่นแรก ๆ เลย ซึ่งจากเดิมเราตั้งใจจะจัดคอร์สขนาดเล็ก รับคนไม่มากนัก ซึ่งเราได้ศึกษาวิจัยมาแล้วว่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าคอร์สคนเยอะ ๆ”
“ปรากฏว่า รอบแรกที่ผมกะจะรับแค่รุ่นละ 25 คน แต่คนก็เริ่มสมัครเพิ่มเข้ามา ภายใน 2 เดือนเราต้องจัดรุ่น 2 ซึ่งต่อมาคนสนใจก็เพิ่มเข้ามาอีก จนอีก 1 เดือนเราต้องจัดรุ่น 3 กลายเป็นว่าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 62 เราจัดอบรมด้วยวิธีคิดแบบนี้ หัวข้อแบบนี้ กระบวนการแบบนี้ไปถึง 3 รุ่น
“ความสำเร็จนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการบอกต่อ เพราะมีบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนแห่มาสมัครร่วมโครงการอบรมหลังจากที่เขาได้รับรู้และมีการบอกต่อ ๆ กันไม่ต่ำกว่า 30 หน่วยงาน จนทำให้ในที่สุดเราก็ต้องเปิดรุ่น 4 ขึ้นภายในปลายปี 62”
“การตอบรับเหล่านี้ มันแปลผลได้ว่า มาจาก “Know-how” ที่เรามี มันบอกว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว จากนั้นมา เราจึงได้ขยายการอบรมเรื่อ Digital PR จากหนึ่งหัวข้อที่เรามี จนปัจจุบันเราขยายหลักสูตรไปถึงมากกว่า 10 หลักสูตร โดยแต่ละหลักสูตรจะประกอบไปด้วย 3-4 วิชารองรับ เพื่อจะได้ลงลึกไปในแต่ละเรื่อง
จาก “knowledge” ที่มีมาสู่ “Process” มาสู่ “Program” มีการประเมินผลความพึงพอใจของผู้เข้าอบรมอย่างไร
“เรื่องประเมินผล จะประเมินทุกครั้ง เราไม่ละเลยหรอก เพราะเราเป็นองค์กรที่เน้นเรื่องทำวิจัยอยู่แล้ว ทุกครั้งที่จัดฝึกอบรมเราจะทำการประเมินทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่ตัวเนื้อหา วิทยากร สถานที่จัดอบรม อาหารการกิน รูปแบบการต้อนรับ เราประเมินผลทั้งหมด”
“แล้วส่วนใหญ่ก็ออกมาได้ในระดับที่ดี ในด้านวิทยากรผลจะอยู่ในระดับ 4-5 (เต็ม 5) มาโดยตลอด เรื่องทั่วไปก็อยู่ที่ระดับ 4-5 เช่นกัน เสียงสะท้อนอย่างหนึ่งที่เราได้กลับมาก็คือว่าเขาสามารถนำไปใช้ได้จริง แม้อะไรหลาย ๆ อย่างจะติดขัดอยู่บ้าง ผู้บริหารบางหน่วยงานเข้าใจแต่อาจจะมองไม่เห็นชัดเจนแบบทะลุปรุโปร่ง แต่เขาเริ่มรู้แล้วว่าเขาควรจะมีวิธีการพลิกเกมการทำงานของเขาอย่างไร เพื่อให้เขามี output และ outcome ในการทำงานประชาสัมพันธ์ออกมาโดยที่เขาสามารถนำสิ่งที่ได้จากเราไปประยุกต์ใช้กับงานของเขา แต่จะได้ผลมากน้อยก็แล้วแต่หน่วยงานแล้วแต่บุคคล”
แสดงว่าด้วยการประเมินผลเชิงปริมาณจากแบบสอบถามนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ 80-90% มีความพึงพอใจที่ได้มีความรู้เพิ่มขึ้น แล้วการประเมินผลเชิงคุณภาพล่ะ CRF พบเห็นอะไรจากผู้เข้าอบรมบ้าง
“เมื่อเขามาอบรมกับ CRF เราอยากให้เขามีอะไรติดไม้ติดมือกลับไป ของที่นำกลับไปจากการติดไม้ติดมือนั้นก็คือ การ workshop หรือการทำงานในห้องอบรม เมื่อได้เรียนรู้แล้วคุณลอง execute ดูสิ ทำมันออกออกมาดูว่า แผนพีอาร์ ตัวชิ้นงานและ คอนเทนต์ของคุณหน้าตาเป็นอย่างไร”
“จากการที่ เรานำเอาวิธีการแบบใหม่เข้ามา เมื่อจบผ่านการอบรม 1วัน 2 วันก็จะมีชิ้นงานของทุกคน จากนั้น ผมจะ upload ชิ้นงานทุกชิ้นผ่านอินเตอร์เน็ตเพื่อเป็นผลงานทางด้าน Digital PR เพราะงั้นเขามีอะไรติดไม้ติดมือกลับไปแน่นอนไม่ใช่แค่มานั่งฟัง กินข้าวหนึ่งมื้อ กินเบรคสองมื้อแล้วกลับ ไปโดยไม่ได้อะไร ผมไม่อยากให้เป็นแบบนั้น”
วิทยากรของ CRF คือใคร ทำไมถึงได้รับเสียงตอบรับจากผู้อบรมอย่างดี
“เรามีจุดยืนว่าคนที่จะมาเป็นวิทยากร มาฝึกอบรมให้ ต้องเป็นคนที่อยู่ในสายงานปฎิบัติจริง ต้องเป็นคนรู้จริง ไม่ได้รู้จำ การรู้จำไม่ได้ผิดอะไร มีคนอื่นรวบรวมองค์ความรู้ว่าแล้วก็จำ ๆ ไปคนอื่นพูดอย่างงั้นคนนั้นพูดอย่างนี้มันก็ไม่ยาก แต่สิ่งที่ “CRF”อยากทำได้คือ อยากให้คนที่ทำงานจริง ประสบการณ์จริง เคยเจอปัญหาและแก้ไขปัญหาได้จริง แล้วเอาวิธีการเหล่านี้ไปถ่ายทอด ทำอย่างไรถึงจะผลักดันข้อความ ข้อมูล ข้อความต่าง ๆ ออกมาได้โดยไม่ได้ยืนฟัง โลกสวย อยู่บนหอคอย แต่เป็นคนที่ทำจริง เคยประสบปัญหาจริงและมีความรู้ความเข้าใจจริง ๆ
“คนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ต่างหากที่ผู้เข้ารับการอบรมน่าจะได้มีโอกาสได้มาสัมผัส ได้รับฟังและเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนที่ทำงานจริง เพราะงั้น “CRF” มันคือองค์กรที่ตั้งขึ้นมารองรับการรวมตัวของมืออาชีพด้านการปฎิบัติที่มาทำหน้าที่เป็นวิทยากร”
“บรรยากาศในการอบรมของ CRF มันจะไม่เหมือนการเรียนหนังสือกับครูกับด็อกเตอร์ แต่มันจะเหมือนการพูดคุยถ่ายทอดและแบ่งบันประสบการณ์จากวิทยากรลงมาสู่การปฎิบัติของผู้เข้าร่วมอบรม เพราะงั้น หลาย ๆ คนที่นี่ ไม่ได้เป็น วิทยากรมืออาชีพ เขาเป็นมืออาชีพด้านการปฎิบัติ พร้อมที่จะถ่ายทอดจากสิ่งที่รู้จริงและทำเป็น”
อ.ธีรพงศ์ ต๋าอ่อน ช่างภาพมืออาชีพ วิทยากรในหัวข้อ “ถ่ายมือถืออย่างมือโปร”
“ส่วนบริษัท CRF จะเป็นเหมือนผู้บริหารจัดการระบบการจัดการความรู้ เป็นสะพานในการบริหารจัดการองค์ความรู้จากตัววิทยากรไปสู่ผู้ร่วมอบรม รวมไปถึงส่งผ่านความรู้ที่เรามีและรวบรวมได้นำส่งไปสู่สังคมส่วนรวมผ่านช่องทาง หรือ Platform อื่น ๆ เช่น แอพพลิเคชั่น นกฮูก และ Line Group และ Faceboo kเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ฯของ CRF เป็นต้น
เรื่องโปรแกรมนกฮูก และเรื่องเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ผ่านกลุ่มไลน์กลุ่มเฟสบุ๊คมันคืออะไร สองเรื่องนี้มันเกี่ยวกันหรือไม่เกี่ยวกันอย่างไร
“มันคือ 2 เรื่องแยกกัน เอาเรื่องเครือข่ายนักประชาสัมพันธ์ก่อน มันเริ่มจากแนวคิดที่ว่า ทุกวันนี้ช่องทางในการสื่อสารเราทุกคนต้องพึ่งพาโซเชียลมีเดีย เพราะสื่อมวลชนแบบดั้งเดิมหรือบริษัทพีอาร์ต่าง ๆนี่ไม่ได้เป็น gate keepe หรือผู้ควบคุมข่าวสารอีกต่อไป คนที่เป็น gate keeper จริง ๆ คือโซเชียลมีเดีย เพราะฉะนั้นมันจึงมีช่องทางบางอย่างไหม ที่จะนำเมจเสจสื่อสารโดยตรงไปถึง targete ได้โดยไม่ผ่านระบบเดิมที่ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการส่งต่อข่าวสารข้อมูลแต่ละเรื่อง
“แต่ขณะนี้ เราใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อของมนุษย์ผ่านทางไดเร็ค คอนเน็คชั่น ผ่านทางสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น ไลน์ เมสเสจเจอร์ เฟซบุค มันเป็นเหมือนกองทัพมดที่เข้าไปช่วยกระจายข่าวสารต่างๆเหล่านี้ออกไปได้ไกลได้กว้าง”
“ผมมองว่าทุกคนที่เข้ามาอบรม ไม่ว่า คุณจะเป็นนักประชาสัมพันธ์ เป็นนักศึกษา เป็นพนักงานองค์กร คุณก็มีไลน์กลุ่ม คุณมีไลน์เพื่อน คุณมีไลน์ผู้นำชุมชน คุณคือช่องทาง แต่แค่คุณไม่รู้ตัวว่า คุณคือช่องทางที่จะเผยแพร่สื่อสารสารจากองค์กรออกไปได้ ทั้งที่เป็นหมวกคุณหรือหมวกองค์กรก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน”
“ ดังนั้นถ้าเราสามารถรวมกลุ่มกับคนที่เป็นเครือข่ายการสื่อสารพวกนี้มาแล้วช่วยกระจายข่าวสารออกไปได้ การสื่อสารของคน ๆ หนึ่งมันเข้าถึงคนจำนวนหนึ่งได้และถ้าคนในเครือข่ายทั้งหมดช่วยกันแปลว่าเมจเสจเดียวถูกส่งไปถึงคนหลักหมื่นหรือหลักแสนคนได้โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเลยสักนิด”
งานนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง CRF กับสถาบันพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการ Taokaemai.com ที่ช่วยกันพัฒนาให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
แล้วนกฮูกละครับ
“โปรแกรมนกฮูกมันเกิดขึ้นมาพร้อมกับเรื่องการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ คือตอนทำ CRF ขึ้นมาเราก็ทำเรื่องของการบริหารธุรกิจแฟรนไชส์ไปด้วย เราได้ค้นพบจุดบอดหรือข้อจำกัดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับ CRM นั่นคือ ธุรกิจเล็ก ๆ ของไทยไม่ค่อยเข้าใจ ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ลูกค้ามาแล้วก็ไป รู้จักชื่อหรือที่อยู่ของลูกค้าไหมก็ไม่รู้จัก เคยเรียกกลับมาซื้อได้ไหมก็ไม่เคย มีอะไรพิเศษให้ลูกค้าเก่าคุณไหมก็ไม่มี คุณรู้ไหมว่าการหาลูกค้าใหม่ต้องใช้เงินมากกว่าการรักษาลูกค้าเก่า แล้วมีอะไรที่คุณบริหารจัดการกับความสัมพันธ์กับลูกค้าเก่าแล้วกลับมาซื้อไหมก็ไม่มี”
“ตรงนี้มันคือ pain point ของ SMEs และของธุรกิจแฟรนไชส์ เราลองสักเกตุธุรกิจใหญ่ ๆ ดูนะ ร้านสุกี้ ปั๊มน้ำมัน ร้านพิซซ่า ห้างสรรพสินค้า เข้าจะมีระบบ membership เพื่อให้สิทธิพิเศษกับลูกค้าเก่า เพื่อสะสมคะแนน เพื่อให้เราได้ขายของกับลูกค้าเก่าได้
“เราก็เลยคิดทำตัวระบบ CRM ขึ้นมา เรียกว่า โปรแกรมหรือระบบ นกฮูก เป็นระบบสิทธิประโยชน์เพื่อใช้กับธุรกิจแฟรนไชส์ของตัวเอง ระบบนี้ก็มี membership ที่ให้ส่วนลด สิทธิพิเศษกับลูกค้าเก่า ในขณะเดียวกันเรายังสามารถเก็บ database เพื่อเอาข้อมูลที่ได้มาทำ data analysis เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าได้ด้วย”
“ระบบ นกฮูกนี้ เราเลือกใช้สัญลักษณ์เป็นรูปนกฮูก เพราะนกฮูกนั้นเป็นสัตว์ในความเชื่อของต่างประเทศว่าเป็นสัตว์แห่งความโชคดี แล้วมันเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่หันหัวได้เกือบ 180 องศา มันมองไปรอบตัว มันบอกอดีต มันมองปัจจุบัน มันมองอนาคต มันมองสิ่งที่เกิดขึ้นด้านหลัง เกิดขึ้นข้างหน้า ถือเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดกว้าง การเรียนรู้และการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด”
“ เราเริ่มทดลองใช้ระบบ“นกฮูก”มาได้ไม่นาน พยายามโปรโมทให้กับผู้ประกอบการ SMEs และธุรกิจแฟรนไชส์ ได้ใช้ ส่งเสริมให้แต่ละธุรกิจได้ทำการแลกเปลี่ยนลูกค้าและแบ่งปันสิทธิประโยชน์กัน เพราะงั้นจึงถือว่านกฮูกเป็น Service หนึ่งของ CRF ในการทำ CRM ให้กับระบบแฟรนไชส์และธุรกิจ SMEs
ระบบนกฮูกมันแตกต่างกับระบบการ์ดอื่น ๆ ยังไง
“การ์ดอื่น ๆ ใช้ร้านไหนร้านนั้น เราไม่สามารถเอาการ์ด ptt bluecard ไปใช้กับปั๊ม shell ได้ พี่ไม่สามารถเอาเอ็มเคสุกี้ไปใช้กับบาบีก้อนได้ แต่ระบบนกฮูกของเราสามารถโคกันได้หมดเลยโดยเฉพาะกับธุรกิจและบริการรายเล็ก”
“เราจะเน้นธุรกิจรายเล็ก sme รายเล็ก ร้านก๋วยเตี๋ยวปากซอย ร้านของชำท้ายซอย ร้านน้ำหอม โรงเรียนสอนภาษา เมื่อทุกคนเขามาอยู่ในเครือข่ายนกฮูกเนี้ยมันทำให้เราได้เกิดการแลกเปลี่ยนลูกค้ากัน ตอนนี้เริ่มต้นไม่นานแต่เรามีร้านค้าในเครือนกฮูกประมาณ60-70ร้านแล้วครับ (ยิ้ม)”
“จริง ๆ แล้ว “นกฮูก”เป็นแพลตฟอร์มอย่างหนึ่งครับ มันเติบโตจากระบบ CRM ขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์ม และตอนนี้มันก็เริ่มเป็นแชนแนลหรือช่องทางสื่อสารแล้วด้วย พราะว่านกฮูกไปร่วมกับสถาบันผู้พัฒนาผู้ประกอบการเถ้าแก่ใหม่พัฒนาขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์ม เพราะงั้นแพลตฟอร์มนกฮูกก็จะมีตั้งแต่เรื่องของการให้ข้อมูลสินค้าและบริการ การสรรหาบุคลากร เรื่องการจัดฝึกอบรม ก็เติบโตและแตกยอดไปเรื่อย ๆ ตามวิถีทางของมัน
คุยกันมานาน ดูเหมือน CRF จะคิดจะฝันจะทำอะไรเยอะไปหมด สุดท้าย CRF เป็นองค์กรแนวไหน เป็นธุรกิจประเภทใดกันแน่ เราจะพอนิยามมันได้ไหม
“ผมเคยนิยามไว้นะ “make your business easy ทำให้ชีวิตในการทำธุรกิจของคุณง่ายขึ้น” ซึ่งมันกว้างเป็นมหาสมุทรเลย ผมไม่อยาก position ว่าเป็นบริษัทฝึกอบรม เป็นบริษัทประชาสัมพันธ์ เป็นบริษัท research นอกจากบอกว่า ที่นี่เป็นการรวมรวม professional ในด้านต่าง ๆ เข้ามาทำงานเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าที่เป็นหน่วยงานต่าง ๆ เพราะในการดำเนินงานขององค์กรก็มีหลายแง่มุม มันมีมุม communication มีมุม HR มีมุม system มีมุมหลาย ๆ อย่าง ซึ่ง CRF management จะสามารถเชื่อม management ทุก ๆ เรื่องได้
สรุปจุดเด่นของบริษัท CRF คือหลักการ จุดยืน วิทยากร หลักสูตร วิธีการออกแบบ การบริหารจัดการ และการผสมผสานช่องทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ประมาณนี้ใช่ไหม
“คือเรามองว่าทุกอย่างมันไม่ได้แยกเป็นข้อ ๆ แบบนั้น แต่ มันเป็นกลุ่มของแนวความคิด ชุดของกระบวนการบริหารจัดการ มันเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันหมด โดยมีเรื่องของ Digital PR เป็นแก่นแกนกลางสำคัญ”
“CRF” นี้เป็นบริษัทใหม่ บริษัทขนาดเล็ก แล้วก็มุ่งเป้าที่จะทำงานเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการขนาดเล็ก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะรับเฉพาะลูกค้ารายเล็กใช่ไหม และก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำเฉพาะโครงการขนาดเล็กใช่ไหม
“ถ้าเทียบคำว่าบริษัทใหญ่และเล็ก ตัวบริษัทมันก็คือกระดาษที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มันก็คือตัวเงินทุนที่เราลงเข้าไป เราอาจไม่มีสินทรัพย์ที่เป็นอาคาร บ้านเรือน ที่ดิน โกดังก็จริง แต่ เรื่องไซส์ไม่มีผลกับการทำงานของผมเลย ไซส์ยิ่งเล็กยิ่งดี ยิ่งเล็กปรับเปลี่ยนง่ายแก้ไขง่าย Flexible ยืดหยุ่นดี”
“ผมไม่ได้มองว่าความเป็นบริษัทเล็กเป็นอุปสรรค ผมมองว่าความเป็นบริษัทเล็กเป็นโอกาส ในขณะที่ Paradigm แนวคิดแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมา คือ ฉันจะต้องฝึกอบรมกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมานาน แต่ถ้าบริษัทที่คุณก่อตั้งมานานคุณรับเด็กจบใหม่มาเป็นพนักงาน คุณเอาวิทยากรที่ตัดแปะมา มันก็ไม่มีคุณค่าอะไร ถึงแม้ “CRF”จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่ความเล็กของเราคือความคล่องตัวในการทำงาน ส่วนที่ความเป็นบริษัทใหม่ไม่มีผลเลย เพราะคนที่มาเป็นวิทยากรของเราคือมืออาชีพที่ทุกคนมีประสบการณ์มาไม่ต่ำกว่า 10-20 ปี และเขาสามารถปรับตัวเองให้เท่าทันกับโลกในยุคปัจจุบันได้และพร้อมที่จะถ่ายทอด เพราะฉะนั้นความเล็กหรือความใหญ่ไม่เป็นปัญหา อยู่ที่ประสิทธิภาพ และใครจะตอบโจทย์ได้มากกว่ากันเท่านั้น”
คำถามสุดท้าย อะไรคือความฝันความตั้งใจต่อไป อะไรที่ตัวคุณวาทิตและ CRF จะสามารถพัฒนาต่อไปในอนาคตบ้าง
“ความใฝ่ฝันจากใจจริง ผมอยากลดช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างรัฐกับประชาชนนะ มันมีช่องว่างอยู่เยอะมาก มันมีตัวแปรที่เป็นเรื่องของทัศนคติของผู้ส่งสารผู้รับสาร มันมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่..เฮ้อ (หยุดถอนใจ) บางครั้งการสื่อสารแบบทางการ ด้วยกระดาษบันทึกหัวจดหมาย เป็นประกาศ ฟอร์มราชการทั้งหลายมันเข้าไม่ถึงประชาชนหรอก ไม่ได้ปฏิเสธว่าคุณจะทำแบบนั้นไม่ได้ แต่มันก็ควรอยู่ในที่ ๆมันควรจะอยู่ แต่ไม่ใช่ให้อยู่ในที่ ๆเป็นสื่อสารมวลชน”
“การสื่อสารกับมวลชน มันต้องถูกย่อยให้เข้าใจได้ ให้เขารับรู้ได้ ตัวผม และบริษัทCRF เรายังหวังเป็นสะพานนะ หวังที่จะเชื่อมข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ออกไปสู่ประชาชนได้ให้เกิดความเข้าใจซื่งกันและกันในประเทศชาติที่มันควรจะต้องขับเคลื่อนเชิงสร้างสรรค์โดยหน่วยงานภาครัฐ เราไม่อยากเห็นการสื่อสารแบบที่ออกมาแล้วโดนด่าตลอดเวลา เราไม่อยากเห็นภาพของความไม่เข้าใจกัน….มันไม่ควรเกิดขึ้น”
“ เพราะหน่วยราชการภาครัฐมีอำนาจหน้าที่สูง การสื่อสารที่ถุกต้องจะช่วยส่งผลดีมหาศาลต่อสังคมและประเทศชาติ ผมตั้งความหวังว่าอยากจะช่วยพัฒนาเรื่องพวกนี้ให้มันดีขึ้น”
บทสัมภาษณ์ โดย ธนาคม พจนาพิทักษ์
