“ใครมีอำนาจในการสื่อสาร” ผู้นั้นคือ ผู้ชนะ คำกล่าวนี้ดูจะเป็นจริงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ในสมัยก่อน ชนชั้นปกครอง คือ ผู้พูดที่ทุกคนต้องฟัง จนมาถึงยุคฐานันดรที่สี่  จึงเกิดสถาบันสื่อมวลชนขึ้นมาคัดกรอง ปรุงแต่งข่าวสารต่าง ๆ และนำเสนอใหม่ในมุมมองของบุคคลที่สาม สื่อมวลชนจึงมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของผู้คนในทุก ๆ สังคม

แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่งหลายอย่าง สื่อมวลชนเริ่มสูญเสียอำนาจในการสื่อสารเพราะต้องพึงพิงสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนผู้รับสารกลับกลายเป็นผู้ส่งสาร มีช่องทางในการเผยแพร่ และแสดงความคิดเห็นเพิ่มมากขึ้น  คนธรรมดาหลายคนกลายเป็นผู้นำความคิดเห็น หรือผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อคนอื่น ๆ

องค์กรของรัฐ เคยใช้สื่อของรัฐเพื่อสร้างการรับรู้และหล่อหลอมความคิดของผู้คน แต่ในปัจจุบัน สื่อของรัฐกลับอ่อนแอลงทุกขณะ

องค์กรภาคเอกชน เคยเผยแพร่ข่าวสารผ่านสื่อมวลชนไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ แต่ในปัจจุบัน สื่อมวลชนกลับต้องไปพึงพิงสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะประชาชน “เลือก” ที่จะรับข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ มากกว่าจะรับจากเจ้าของสื่อโดยตรง

และที่เป็นปัญหาหนักที่สุดคือ ทั้งองค์กร (รัฐและเอกชน) และสื่อมวลชน ต้องจ่ายเงินให้กับสื่อสังคมออนไลน์เพื่อเป็น “ทางผ่าน” ไปยังกลุ่มเป้าหมาย

เม็ดเงินค่าโฆษณาถูกถ่ายโอนจากธุรกิจไทย ไปยังเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลกระทบหนักทั้งต่อธุรกิจสื่อสารมวลชนทั้งระบบ

จ่ายเงินไปแล้ว เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายตามจำนวนที่กล่าวอ้างจริงหรือไม่ ตรงกลุ่มเป้าหมายจริงหรือไม่

ไม่มีใครพิสูจน์ได้ และไม่มีเครื่องมือที่จะพิสูจน์ได้

เม็ดเงินออกไปแล้ว ไม่สามารถเก็บภาษีได้

สื่อสังคมออนไลน์ คือ ผู้คัดเลื่อก และผู้คัดกรองข่าวสาร (Gate keeper) ที่แท้จริง

เขาจะเป็นผู้กำหนดว่า เนื้อหาลักษณะไหน จะถูกส่งถึงคนไหน

การเผยแพร่เนื้อหา โดยไม่ใส่เงินเข้าไป จะไม่ทำให้เกิดการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ

ลองคิดดูเล่น ๆ ถ้าเจ้าของสื่อสังคมออนไลน์ อยากให้คนไทยตีกัน ก็แค่ส่งข้อมูลที่เป็นปรปักษ์ให้ฝ่ายตรงข้าม เพียงเท่านี้ ความคิดห็น ความเกลียดชัง ก็จะถาโถมเข้าหากันอย่างรุนแรง

เขารู้หมด ว่าเราอายุเท่าไหร่ เรียนจบอะไรมา เคยทำงานที่ไหน คบหากับใคร ชอบดูหนังเรื่องอะไร มีงานอดิเรกอะไร ไปไหนมาบ้าง ชอบกินอะไร ชอบเที่ยวแบบไหน มีทัศนคติทางการเมืองและสังคมอย่างไร และอีกมากมาย

เขารู้หมด เพียงเพราะเรา “อยากอวด อยากมีตัวตน อยากมีคนยอมรับนับถือ อยากได้รับการยอมรับในสังคม”

อำนาจในการสื่อสารกับประชาชนที่แท้จริง อยู่ในมือของธุรกิจสื่อสังคมออนไลน์ต่างชาติ

เพราะคนไทย “เลือก” ที่จะฝากชีวิตไว้กับสื่อสังคมออนไลน์

ในระดับปัจเจกบุคคล คงไม่มีผลกระทบอะไรมาก นอกจากอาจจะถูกปั่นหัวโดยไม่รู้ตัว

ในระดับองค์กร ต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสาร เพิ่มภาระงาน เพิ่มค่าใช้จ่าย

ในระดับรัฐ สูญเสียอำนาจในการสื่อสารและควบคุมข่าวสารโดยสิ้นเชิง

ในระดับประเทศ เรากำลังสูญเสียอำนาจอธิปไตยโดยไม่รู้ตัว

——————————

 วาทิต ประสมทรัพย์

2 กรกฎาคม 2562

Total Page Visits: 1468 - Today Page Visits: 1
Share this Post