ปัญหาผู้บริหารหลีกเลี่ยงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน
เมื่อวันก่อนมีพี่สื่อมวลชนมาบ่นให้ฟังว่า พยายามจะขอเข้าไปสัมภาษณ์หัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในภาคกลาง แต่ทางสำนักงานกลับบอกให้ ทำหนังสือเข้าไป ซึ่งเรื่องนี้ ฟังดูแล้วก็อาจจะคิดว่า ก็เป็นเรื่องปกติของหน่วยราชการที่ต้องทำหนังสือเข้าไปก่อน แต่หากมองอีกมุมหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะในมุมของงานประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชนสัมพันธ์ จะถือเป็นเรื่อง “น่าเบื่อหน่าย” กับ “การเข้าถึงยาก” ของแหล่งข่าว
อ้าว สื่อมวลชนนำเอา “โอกาสในการประชาสัมพันธ์มาให้แล้ว” ทำไมท่านถึงปฏิเสธ
หรือท่านกำลังมองเรื่อง การให้สัมภาษณ์สื่อ เป็น ปัจจัยคุกคาม ?
ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแล้วเราได้อะไร
แน่นอน สื่อมวลชนต้องการ “เนื้อหา” เพื่อนำไปเสนอต่อสาธารณชน ซึ่งต้องเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ อยู่ในความสนใจของประชาชน หรือ เป็นเรื่องราวที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก เขาถึงได้พยายามมาตามหาเรื่องราวจากท่าน
แล้วถ้าท่านเป็น “แหล่งข่าว” หรือเจ้าของเรื่องราวดังกล่าว และท่านกำลังทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่มีอิทธิพล หรือมีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ท่านจะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบนี้ได้อย่างไร
หลีกเลี่ยง เท่ากับ ยิ่งปกปิด ยิ่งหนี ยิ่งเหมือนคนมีความผิด
เปลี่ยนวิธีคิด
ปกติแล้ว การที่องค์กรมีความต้องการจะเผยแพร่ข่าวสาร หรือเรื่องราวใด ๆ ออกไปสู่สาธารณชนนั้น จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ไม่ว่าท่านจะซื้อสื่อออนไลน์ ออฟไลน์ เพื่อเผยแพร่ message ออกไป นับเป็นเรื่องที่มีต้นทุน
ในทางกลับกัน หากมีผู้สื่อข่าวมาขอสัมภาษณ์ และท่านได้มีโอกาสพูด ในสิ่งที่อยากจะพูด มีโอกาสได้ชี้แจงให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ มีโอกาสได้เผยแพร่ข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด โดยที่ทั้งหมดนี้ ไม่ต้องเสียเงินสักบาท ทำไมท่านจะต้องปฏิเสธ
หรือท่านกำลังกลัวคำถามจากสื่อมวลชน ที่กำลังไล่ต้อนขุดคุยหาความจริง
ถ้าท่านมีข้อเท็จจริงหรือมีการทำงานที่ถูกต้อง ท่านก็ไม่เห็นจะต้องกลัว วิธีการตอบคำถามมีตั้งมากมายถมเถ
ถ้าเจอคำถามปลายปิดประเภท “ใช่หรือไม่” ท่านไม่จำเป็นต้องตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ ท่านมีสิทธิ์จะอธิบาย เพราะสื่อมวลชนกำลังเปิดโอกาสให้ท่านได้ชี้แจง
พึงระลึกไว้เสมอว่า “ไม่มีคำถามที่ไม่ได้เรื่อง มีแต่คำตอบที่ไม่ได้เรื่อง” (There’s no stupid question, there’s only stupid answer)
การให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนนั้น นอกจากท่านจะได้เผยแพร่ข้อมูลของหน่วยงานแล้ว ท่านยังมีโอกาสได้ “แถลงผลงาน” ของตัวเอง เป็นการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก สร้าง Personal Branding ที่ดีอีกด้วย
วิธีการเตรียมตัวเพื่อให้สัมภาษณ์
- อย่าทำให้การขอสัมภาษณ์ หรือการเข้าหาเป็นเรื่องยุ่งยาก
- สอบถาม “ประเด็น” ในการสัมภาษณ์ ว่าสื่ออยากรู้เรื่องอะไรบ้าง (ท่านมีสิทธิ์ที่จะถาม)
- เตรียมข้อมูล ตัวเลข และรายละเอียดต่าง ๆ สำหรับตอบในประเด็นที่สื่อมวลชนต้องการ
- เตรียมตั้งสติ สำหรับคำถามที่อยู่นอกเหนือประเด็น ซึ่งท่านมีสิทธิ์เลือกที่จะไม่ตอบโดยการปฏิเสธอย่างสุภาพและนุ่มนวล
- สร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองก่อนการสัมภาษณ์
- ยืนหยัดอยู่ใน “Key message” ของท่าน
- อยากให้สื่อพาดหัวว่าอย่างไร เตรียมคำพูดนั้นไว้ และพูดให้บ่อย ๆ
- ให้ความเป็นกันเองกับผู้สัมภาษณ์
- สนับสนุนข้อมูลที่ผู้สัมภาษณ์ต้องการ
- ในกรณีที่ให้สัมภาษณ์แบบไม่ได้ซื้อสื่อ หรือจ้างทำประชาสัมพันธ์ “อย่าขอดูต้นฉบับ” เพราะถือเป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างแรก
สื่อมวลชนจะเขียนข่าวออกมาดี หรือไม่ดี อยู่ที่ว่า ท่านให้ข้อมูลและทำให้สื่อมวลชนรู้สึกต่อเรื่องนั้น ๆ อย่างไร
ถ้าสิ่งที่ท่านทำ กำลังขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชน ก็เตรียมใจไว้ว่าการให้สัมภาษณ์ครั้งนั้นอาจจะออกมาไม่ตรองกับใจที่ท่านต้องการนัก
แต่หากท่านมีข้อมูลที่เหมาะสม มีคำพูดที่น่าฟัง มีน้ำเสียงที่เป็นมิตรหรือน่าเห็นใจ ก็มั่นใจได้ว่าบทสัมภาษณ์นั้น จะออกมาดีแน่นอน
สรุป
การให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หากท่านรู้จักเตรียมตัว และมีวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม การให้สัมภาษณ์นั้น จะกลับมาสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรและตัวท่านอย่างแน่นอน