นายพิสุทธิ์ สีนอเพีย หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักปลัด อบจ.อุบลราชธานี

จากการที่บริษัท ซีอาร์เอฟ แมเนจเม้นท์ จำกัด ได้รับเกียรติจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ให้ไปบรรยายในหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถนะผู้ปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์ภาครัฐ ให้กับเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และโรงเรียนในสังกัดของ อบจ. เมื่อวันที่ 3-4 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ผมจึงได้มีโอกาสพบปะกับหัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ อบจ.อุบลฯ

ซึ่งจากการที่ได้พูดคุยสักระยะหนึ่ง ผมก็ค้นพบว่า หัวหน้าฝ่ายท่านนี้ ท่านมีแนวทางการทำงานแบบ พัฒนาคน มุ่งสร้างแรงขับเคลื่อนในการทำงาน จึงขอโอกาสที่จะพูดคุยกับท่านเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานประชาสัมพันธ์ในระดับท้องถิ่นมากขึ้น

หัวหน้าท่านนี้คือ นายพิสุทธิ์ สีนอเพีย หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ สำนักปลัด อบจ.อุบลราชธานี

พิสุทธิ์ สีนอเพีย หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ.อุบลราชธานี
พิสุทธิ์ สีนอเพีย หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ.อุบลราชธานี
บทบาทภารกิจในการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นอย่างไรบ้างครับ

ในเรื่องบทบาท ภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นี้ ต้องพูดถึงบริบทของ อปท. ก่อน ซึ่งประกอบด้วย อบจ. เทศบาล และ อบต. ซึ่งทั้งสามรูปแบบนี้ เป็นองค์กรที่จะต้องอยู่ใกล้ชิดประชาชนและดูแลทุกข์สุขของประชาชน โดบเฉพาะ อบจ.อุบลราชธานีของเรา ดูแล 25 อำเภอ แต่ละอำเภอห่างเป็น 100-200 กิโล ซึ่งภารกิจต่าง ๆ ที่จะต้องบำบัดทุกข์-บำรุงสุข เพราะฉะนั้น งานประชาสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าจะต้องทำการสื่อสารภารกิจขององค์กร ให้ประชาชนได้รับทราบว่า เราทำอะไรอยู่ และประชาชนสามารถจะพึ่งพาเราได้อย่างไรบ้าง

ถ้าเราสื่อสารได้ถูกต้อง ปัญหาการร้องเรียนต่าง ๆ ก็จะไม่เกิด หรือเกิดน้อยลง

พิสุทธิ์ สีนอเพีย

บางพื้นที่ที่อยู่ไกล ๆ มักมีความเข้าใจผิดว่า ถนนสายนี้ ทำไม อบจ.ไม่มาดูแล อบจ.ไม่มาทำ จริง ๆ อบจ.ทำไม่ได้ก็มี ไม่ใช่ว่า อบจ.จะทำได้หมด เพราะกฎหมายพูดไว้ว่า “มีหน้าที่ทำ ถึงค่อยทำ” ไม่มีหน้าที่ จะทำไม่ได้ ไม่งั้นก็โดนตรวจสอบ อยู่ดี ๆ เราจะกระโดดเข้าไปทำไม่ได้ ชาวบ้านเห็นเป็น อบจ. ก็นึกว่า อบจ.ต้องทำได้หมด การประชาสัมพันธ์จึงถูกนำมาใช้เพื่อสื่อสารกับชาวบ้าน

อบจ.อุบลฯ ใช้ช่องทางไหนในการสื่อสารกับชาวบ้านบ้าง

ช่องทางหลัก ๆ ก้จะมีเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และจดหมายข่าว รวมถึงทางสถานีวิทยุและเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานี

มีช่องทางให้ประชาชนสื่อสารกลับมาถึงเราบ้างหรือไม่

มีช่องทางให้ประชาชนสอบหรือร้องเรียนได้ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งเรามีแอดมิน และเว็บมาสเตอร์ที่จะคอยเข้ามาตอบ ทั้ง ครู คลัง ช่าง หมอ มีครบหมดทุกอย่าง สามารถเยียวยาได้หมด ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้ขอบข่ายภารกิจของ อบจ. เช่น การดุแลถนนที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากกรมทางหลวงชนบท ประมาณ 800 ก.ม. แต่บางที เราไม่ได้รับผิดชอบดูแลทั้งสาย เช่น ถนนสาย อบ. 123 ซึ่งยาว 50 ก.ม. แต่เรารับผิดชอบดูแลแค่ กิโลเมตรที่ 1-5 แต่ถนนไปพังที่กิโลเมตรที่ 20 ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นความรับผิดชอบของ อบจ. ทั้งสาย

ขุมพลังด้านประชาสัมพันธ์ของ อบจ.อุบล เป็นอย่างไรบ้าง

ประชาสัมพันธ์ เป็นฝ่ายหนึ่งของสำนักปลัด ซึ่งดูแลอยู่สามฝ่ายคือ บริหารงานทั่วไป ประชาสัมพันธ์ และนิติการ คล้าย ๆ พ่อบ้านแม่บ้านทั้งหมด งานประชาสัมพันธ์ที่ผมดูแลได้รับมอบหมายอยู่หลายหน้าที่ ซึ่งแม้จะเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ก็จริงแต่ต้องดูแล พนักงานขับรถ คนสวน ทำความสะอาด ส่วนในงานประชาสัมพันธ์จริง ๆ ก็จะมีเจ้าหน้าที่ถ่ายรูป เขียนข่าว เป็นพิธีกร ทำทัชสกรีน ผลิตวีดิทัศน์ รวมแล้วประมาณ 10 คน ต่างคนก็ต่างมีฝีมือคนละด้าน เมื่อเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพและเขียนข่าวมา ผมจะมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องก่อนเผยแพร่ออกไป

79D75E4D D62F 4C37 B34D 93A0B3624FCD
มีปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงานประชาสัมพันธ์อย่างไรบ้าง

ปัญหา มีแน่ เพราะเราเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารก็คือการเมือง เพราะโครงสร้างของ อปท. จะมีฝ่ายบริหาร (นายก และผู้บริหาร) ฝ่ายปฏิบัติ และฝ่ายนิติบัญญัติ เช่นสภา อบจ. สภา อบต. เขามีหน้าที่สะท้อนปัญหาของชาวบ้านเข้ามาถึงฝ่ายบริหาร ทีนี้หน้าที่ของฝ่ายปฏิบัติ โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอ ซึ่งบางครั้ง อาจจะถูกใจฝ่ายหนึ่งแต่ไม่ถูกใจอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องมีการกลั่นกรองเนื้อหาในการสื่อสารให้เหมาะสม ซึ่งเป็นหน้าที่ของผมเอง ลูกน้องที่ถ่ายภาพและเขียนข่าวมาต้องส่งให้ผมก่อน เป็นเหมือนบรรณาธิการย่อย ๆ น้อง ๆ จึงสามารถเอาข่าวขึ้นเว็บหรือเฟซบุ๊กได้ ท้ายข่าวของเราจะเขียนไว้เลยว่า ใครถ่ายภาพ ใครเขียน ใครตรวจ ข่าวทุกข่าวต้องผ่านผม มีอะไรผมรับผิดชอบเอง

เรื่องเงินงบประมาณ ไม่ค่อยมีปัญหา เรื่องคนก็ไม่ค่อยมีปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเอาใจใส่กับงานหรือไม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับเราว่าจะ “เฆี่ยน” กันขนาดไหน ดูแลแค่ไหน ก็เป็นเรื่องความเข้มงวดหรือการปล่อยปละละเลยของเราเอง

สัมภาษณ์ พิสุทธิ์ สีนอเพีย หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ.อุบลราชธานี
สัมภาษณ์ พิสุทธิ์ สีนอเพีย หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ อบจ.อุบลราชธานี
เป้าหมายในการทำงานประชาสัมพันธ์ของหัวหน้าคืออะไร

อยากให้องค์กร อบจ. อุบลฯ เป็นที่ยอมรับ อยากให้การสื่อสาร การข่าว เข้าถึงประชาชนจริง ๆ เพราะว่าเป้าหมายใหญ่ของเราคือ อยากให้ประชาชนรับรู้ในขอบเขตหน้าที่ของ อบจ. ว่ามีแค่ไหน เพราะถ้าเขาไม่รู้ เขาก็ร้องเรียนมาที่เราอย่างเดียว บางทีต้องเดินทางกันไปเป็นร้อยกิโลฯ

สมัยก่อนเรามีเรื่องงานชุมชนสัมพันธ์ ซึ่งจะแบ่งการทำงานออกเป็นโซน เหนือ ใต้ ตะวันออก ตะวันตก พนักงาน อบจ. ก็จะถูกแบ่งเป็นสี่กลุ่ม ต่างคนต่างออกไปทำงาน ทุกวันศุกร์จะมาพูดคุยหารือกันเรื่องปัญหา อุปสรรค พอวันศุกร์แต่ละกลุ่มจะมาร่วมกันหารืออีก ตามเช็คข่าวกันตลอด ตอนเย็นก็ออกไปทำงานมวลชนสัมพันธ์อีก บางทีต้องรอชาวบ้านเลิกงาน กลับมาจากไร่จากนา ถึงจะไปเจอกันได้ กลับบ้านดึกทุกวัน (หัวเราะ) แต่ตอนนั้น มันก็เข้าถึงชาวบ้าน สำหรับจังหวัดอุบลฯ นี่เป็นพื้นที่ใหญ่ ไปยังไงก็ไม่ครบซักที มีสองพันกว่าหมู่บ้าน

แต่ปัจจุบันนี้ ไม่ได้ทำแล้วเพราะมีการเปลี่ยนผู้บริหาร แต่ทางการเมืองเขาก็มีทีมงานของเขาในทุกพื้นที่ ส่วนพวกเราที่เป็นฝ่ายราชการก็มีข้อจำกัดในการทำงานกันไป

อยากฝากอะไรกับคนที่อยู่ในงานประชาสัมพันธ์บ้าง

แนวทางการทำงานของผม คือ การตั้งโจทย์ในการทำงานโดยเปิดโอกาสให้ลูกน้องหาวิธีการที่เหมาะสม เช่น ผมตั้งโจทย์ไว้ 10 พวกคุณก็ไปหาอะไรมาก็ได้ให้มันได้ 10 คุณจะเอา 5+5 หรือ 7+3 ก็ได้ แต่วิธีการขอให้ถูกต้อง ขอให้อยู่ในกรอบเท่านั้นเอง แต่ผมต้องการคำตอบที่มันถูกต้อง ในส่วนของงานใด ๆ ของหน่วยงานภายใต้ อบจ. อุบลฯ ทีมงานผมก็พร้อมจะช่วยสนับสนุนเต็มที่


Total Page Visits: 5036 - Today Page Visits: 2
Share this Post