การประชาสัมพันธ์ในยุค New Normal ที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ เป็นแนวทางการดำเนินงานที่หลาย ๆ องค์กรเริ่มปรับใช้แล้ว และหลายองค์กรอาจจะกำลังคิดอยู่ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี จึงขอรวบรวมมาให้เป็นข้อมูลเพื่อการคิด การตัดสินใจของแต่ละองค์กรต่อไป
พฤติกรรมการรับข่าวสารเปลี่ยนไปหรือไม่
จากการไล่ดูสถิติเรื่องการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชน พบว่า ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เนื่องจากในยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่รับรู้ข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และโทรทัศน์ เป็นหลักอยู่แล้ว การเกิด Social Distancing จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเปิดรับข่าวสาร แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ “การสื่อสารทางตรง” เช่น การบรรยาย อบรม การเดินทางไปพบปะลูกค้า ผู้นำชุมชน ที่ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม
ส่งข่าวให้สื่อมวลชนเหมือนเดิมหรือไม่
เหมือนเดิมสิคร้าบ ในฐานะพีอาร์ คือ นำส่งข่าวสารจากองค์กร (ซึ่งต้องเป็นข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน) ไปสู่มือสื่อมวลชนอยู่แล้ว และแม้ในยุค New Normal สื่อมวลชนก็ยังคงต้องการข่าวสารจากแหล่ง ๆ ต่าง ๆ เพื่อนำไปพิจารณาเผยแพร่ต่อไปเหมือนเดิม ดังนั้น จงอย่าหยุดส่งข่าว (ที่เป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน) และจงหยุดส่งข่าว (ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนอ่าน) ดีกว่า
แถลงข่าวได้เหมือนเดิมหรือไม่
พี่น้องนักข่าวเริ่มบ่นกันหนาหูแล้วว่า เบื่อการแถลงโดยการประชุมทางไกลแล้ว มันไม่ได้อรรถรส มันไม่ได้ถามตอบแบบใกล้ชิด ถึงเวลาจะจัดแถลงข่าวแบบเดิมได้หรือยัง จัดแบบ social distancing ก็ได้ ไม่มีปัญหา แต่ช่วยเลิกส่ง link มาเชิญประชุมทางไกลเถิด
การประชาสัมพันธ์ภายใน ต้องทำอย่างไร
เรื่องนี้เป็นปัญหาโลกแตกของทุกองค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ ยิ่งทำให้มีความ “ห่าง” มากขึ้น ทั้งแนวนอน คือ ระหว่างคนในองค์กร และ “แนวตั้ง” คือ พนักงานระดับล่างไปจนถึงผู้บริหาร ดังนั้น แต่ละองค์กรคงต้องย้อนกลับไปดูเนื้อหาทางการประชาสัมพันธ์ของตัวเองว่า องค์กรใช้การประชาสัมพันธ์ภายในเพื่อทำหน้าที่อะไร และในปัจจุบัน สื่อกับเนื้อหาที่ใช้กันอยู่สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์นั้นได้หรือไม่ เพียงแต่สื่อบางชนิดที่เราเคยใช้กัน เช่น บอร์ดในที่ทำงาน ในลิฟต์ อาจะไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิมเพราะหลายคนต้องทำงานอยู่บ้าน
สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้พนักงานตระหนักรู้คือ อย่าทำให้พวกเขารู้สึกว่า ขาดความใกล้ชิดจากผู้บริหาร เพราะในยามวิกฤต ก็จะมีเพียงไต้ก๋งเท่านั้น ที่จะนำพาให้เรือรอดพ้นจากพายุไปได้ ดังนั้น จงเกาะติดกับพนักงานให้ใกล้ชิดว่า องค์กรจะก้าวไปอย่างไร องค์กรต้องการความร่วมมือร่วมใจอย่างไรบ้าง ต้องเสียสละอะไรอย่างไรบ้างในภาวะวิกฤตเช่นนี้
ทุกประเด็นต้องลงท้ายด้วยนามสกุล “สู้โควิด-19” หรือไม่
แม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ได้เป็นเพียง “กระแส” แต่เป็นสภาวะของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ในเรื่องแง่มุมทางการประชาสัมพันธ์ หรือ PR Angle ก็ไม่จำเป็นต้องห้อยท้ายคำนี้เสมอไป แม้ในโครงการต่าง ๆ อาจจะจำเป็นต้องทำตามนโยบายของหน่วยเหนือ แต่กับการประชาสัมพันธ์ในยุค New Normal นั้น เรื่อง COVID-19 มันกลายเป็น Normal ไปเสียแล้ว ดังนั้น ประเด็นข่าวใด ๆ ยังคงมุ่งไปที่ประโยชน์ของผู้รับสารแต่ละกลุ่มเป็นหลัก และไม่จำเป็นต้องห้อยท้ายคำนี้ไว้ให้น่าเบื่อก็ได้
LIVE ผ่าน Facebook และ YouTube จะดีหรือไม่
ดีแน่นอน แต่อยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ภาพต้องดี เสียงต้องชัด ต้องถ่ายทอดสดผ่านอุปกรณ์ถ่ายทอดสดชั้นดี ไม่ใช่ไฟล์ผ่านมือถือแบบพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ไม่ใช่ว่าการไลฟ์แบบขายออนไลน์จะไม่ดี แต่ในภาพลักษณ์ระดับ “องค์กร” แล้ว จะทำง่าย ๆ แบบนั้นไม่ได้ และแน่นอน ก่อนการ LIVE ก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ออนไลน์ออกมาก่อนเพื่อเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายให้เข้าร่วมรับฟัง
แล้วปทัสถานใหม่ของงานประชาสัมพันธ์คืออะไร
สิ่งที่ทำให้การประชาสัมพันธ์ในยุค New Normal แตกต่างไปจากเดิมคือ ผู้ส่งสารต้อง “แย่งชิง” ความสนใจจากผู้รับสารให้ได้ เพราะโลกเกือบทั้งใบมันแทบจะย้ายไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตหมดแล้ว ข้อมูลข่าวสารจากทุกสารทิศถาโถมเข้ามาในฟีด ถาโถมเข้ามาในไลน์ ซึ่งคนไทยก็ใช้กันอยู่ไม่กี่แพลตฟอร์ม ผู้คนจึงเลือกที่จะเปิดอ่านในสิ่งที่พวกเขาสนใจเท่านั้น ซึ่งความสนใจในที่นี้ อาจจะหมายถึง อ่านแล้วสนุก อ่านแล้วฉลาด อ่านแล้วคุยกับคนอื่นรู้เรื่อง หรือแม้ไม่อ่าน แต่แชร์แล้วดูฉลาด ก็จะทำให้เนื้อหานั้น ๆ ได้รับความสนใจมากขึ้น
หมดยุคเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับเรา เข้าสู่ยุคเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับสาร คือ การประชาสัมพันธ์ในยุค New Normal และจะเป็นเช่นนี้เรื่อยไป